โรค Conduct Disorder พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในเด็กและวัยรุ่น ปัญหาสังคมที่เริ่มต้นจากครอบครัว
“ลูกของคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” เป็นวลีที่ได้ยินกันบ่อย ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น ยิ่งถ้าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง จนเข้าข่ายป่วยด้วยโรคพฤติกรรมอันธพาล อาจสร้างความเสียหายต่อสังคมและคนรอบข้างได้อย่างมหาศาล โดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
โรคพฤติกรรมอันธพาลคืออะไร
โรคพฤติกรรมอันธพาล หรือ โรคพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ภาษาอังกฤษเรียกว่า โรค Conduct Disorder คือ ความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว ค่อนไปทางอันธพาล ส่วนใหญ่จะพบในวัยเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป และวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 21 ปี ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการปฏิบัติตามกฏระเบียบ ผิดวินัย ทำลายข้าวของ โกหกเป็นนิสัย ชอบละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมทั้งพฤติกรรมต่อต้านสังคม
บางครั้ง พฤติกรรมดังกล่าวในวัยเด็กเล็ก ที่อยู่ในช่วงวัยกำลังเจริญเติบโต อาจถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมการเอาแต่ใจของเด็กเป็นปกติ แต่ที่จริง อาการแสดงออกเหล่านั้น อาจกำลังฟ้องว่าเด็กกำลังเข้าข่ายป่วยด้วยโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว หรือ โรค Conduct Disorder และหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับการรักษา ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเด็ก รวมไปถึงคนรอบข้างและสังคม
โรค Conduct Disorder สาเหตุเกิดมาจากอะไร
ทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุหลัก ๆ ของพฤติกรรมก้าวร้าวเกิดจากอะไรกันแน่ แต่มีความเป็นไปได้ว่าโรค Conduct Disorder มีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น
- พันธุกรรม เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่มีผู้ป่วยทางจิต หรือมีประวัติเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) โรคทางอารมณ์ (Mood Disorder) หรือ โรคทางจิตจากการใช้สารเสพติด (Substance Use Disorder) เป็นต้น มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเกเรรุนแรงมากกว่าเด็กทั่วไป
- ความผิดปกติทางสมอง พฤติกรรมเกเรรุนแรงเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ทำหน้าที่ควบคุมความคิด (Cognitive Skills) การรับรู้ อารมณ์ และพฤติกรรม อาจถูกกระทบกระเทือนหรือโดนทำลาย จนทำให้ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจ คความหุนหันพลันแล่น (Impulse Control) ของตนเองได้
- สภาพแวดล้อมและสังคม เด็กที่เติบโตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมไปด้วยความรุนแรง มีการใช้สารเสพติด หรือถูกทารุณกรรมตั้งแต่เด็ก ครอบครัวมีปัญหา หรือแม้แต่การไม่ถูกยอมรับจากคนใกล้ตัวหรือสังคม จนส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจ และกลายเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงไม่รู้ตัว
ลักษณะพฤติกรรมก้าวร้าวมีอะไรบ้าง
พฤติกรรมก้าวร้าว (Aggressive Behavior) เช่น
- ชอบล้อเลียนหรือเย้ยหยันความบกพร่องของผู้อื่น
- ชอบใช้กำลัง ชอบใช้ความรุนแรง
- ชอบรังแก ทำร้ายร่างกายคนอื่น
- ชอบทารุณกรรมสัตว์
- ใช้อาวุธแก้ปัญหา
- ข่มขืนหรือล่วงเกินทางเพศผู้อื่น
- ขโมยของคนที่ตนทำร้าย
พฤติกรรมเชิงทำลาย (Destructive Behavior)
- ทำลายข้าวของ
- ก่อเพลิงไหม้ หรือลอบวางเพลิงโดยเจตนา
- เจตนาทำลายทรัพย์สิน หรือที่อยู่อาศัยของคนอื่น
พฤติกรรมหลอกลวง (Deceitful Behavior)
- โกหก
- ลักขโมย
- ปลอมแปลงเอกสาร
- ปลอมแปลงลายมือ
- ปลอมแปลงทรัพย์สินเพื่อยักยอก
การละเมิดกฏระเบียบอย่างรุนแรง คือ การแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับวัย หรือไม่ทำตามกฏระเบียบของสถานที่และสังคม เช่น
- โดดเรียน
- หนีออกจากบ้าน
มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น
- ใช้สารเสพติด
- ดื่มแอลกอฮอล์
- แสดงพฤติกรรม หรือ ล่วงเกินทางเพศ
- ขี้โมโห อารมณ์รุนแรง
- ชอบอาละวาด เช่น กรีดร้อง งอแง ชักดิ้นชักงอกับพื้น
- ชอบทำร้ายตนเอง
- ความพอใจในตัวเองต่ำ
- ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง (Low Self-Esteem)
- ชอบทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้สึกผิด ไม่สำนึกผิด และไม่เห็นใจผู้ที่ถูกตัวเองทำร้าย
โรค Conduct Disorder การรักษามีทางใดบ้าง
วิธีรับมือและการรักษาโรคพฤติกรรมอันธพาลขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของผู้ป่วย ระดับความรุนแรงของอาการ และวิธีการรักษาโรค Conduct Disorder ที่แพทย์นิยมใช้กัน ได้แก่
- จิตบำบัด (Psychotherapy) แพทย์จะทำการพูดคุย รับฟังและให้คำปรึกษ เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการความคิด และพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีควบคุมอารมณ์ และการแสดงออกให้เหมาะสม อย่างมีเหตุมีผลผล
- การรักษาด้วยยา โดยแพทย์จะใช้ยาบางชนิดรักษาอาการโรคต่าง ๆ เช่น โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า ที่อาจเกิดร่วมกับ Conduct Disorder
- ครอบครัวบำบัด โดยแพทย์จะทำการพูดคุยและให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครอง หรือคนในครอบครัว เพื่อแนะนำวิธีการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมต่ออายุและระดับความรุนแรงอาการ รวมไปถึงการให้สมาชิกในครอบครัวเข้าร่วมการบำบัดพร้อมกับผู้ป่วย อาจช่วยส่งผลให้อาการของโรค Conduct Disorder หายเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาการของ Conduct Disorder หรือ โรคพฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนใหญ่มักจะพบในเด็กทั่วไป แต่ถ้าหากพบว่ามีอาการดังกล่าวต่อเนื่องนานเกินไป หรือมีอาการรุนแรงผิดปกติ ควรรีบพาบุตรหลานไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำและรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยระงับไม่ให้มีอาการรุนแรงจนอาจไม่สามารถรักษาพฤติกรรมได้ในตอนโต จนนำไปสู่ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเด็ก หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อคนใกล้ชิดและสังคมในอนาคต