ชวนรู้จักคนกลุ่ม Gen B เมื่อแนวโน้มสังคม Baby boomer เพิ่มสูงขึ้น
Generation หรือที่มักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า Gen คือ ช่วงอายุของกลุ่มคนตามยุคสมัย โดยมีการพยายามจัดแบ่งกลุ่ม เพื่อวิเคราะห์ถึงวัย พฤติกรรม ทัศนคติ ความคิด และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
ปัจจุบันประเทศไทยมี 6 Generation ด้วยกัน ได้แก่
- Silent Gen (The Giver) คือ ช่วงอายุ 77 – 94 ปี
- Baby Boomer (Loyalist) คือ ช่วงอายุ 58 – 76 ปี
- Gen X (The Maker) คือ ช่วงอายุ 42 – 57 ปี
- Gen Y (The New Driver) คือ ช่วงอายุ 26 – 41 ปี
- Gen Z (The Digital Native) คือ ช่วงอายุ 12 – 25 ปี
- Gen Alpha (The AI Kids) คือ ช่วงอายุน้อยกว่า 12 ปี
บทความนี้จะขอกล่าวถึง Loyalist เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจถึงคน Gen นี้กันมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มสังคมคนสูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางการปรับตัวในสังคมคนยุคใหม่ ที่มีความแตกต่างของช่วงเวลาอย่างชัดเจน ดังนั้น คนวัยนี้จึงต้องการความเข้าใจจากกลุ่มเจเนอเรชันอื่น ๆ เพื่อการปรับตัวเข้าหากัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว รวมไปถึงการตลาดของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึงและตอบโจทย์ลูกค้า กลุ่ม Baby Boomer
Baby Boomer คือใคร
Baby Boomer คือ กลุ่มคนที่อยู่ในช่วงอายุ 58 – 76 ปี หรือเกิดในช่วง พ.ศ. 2489 – 2507 ซึ่งเป็นช่วงอายุของกลุ่มคนวัยเกษียณ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Gen B นั่นเอง
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ถูกเรียกว่าเช่นนั้น เนื่องจากระยะช่วงปีเกิดของคนกลุ่มนี้ เพิ่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานมากนัก จึงเป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองต่าง ๆ ต้องทำการฟื้นฟูในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง หรือเศรษฐกิจ และผลจากสงคราม ทำให้หลายประเทศต่างสูญเสียประชากรไปเป็นจำนวนมาก รัฐบาลในยุคนั้นจึงสนับสนุนให้ประชาชนผลิตทายาทเยอะ ๆ เพื่อมาช่วยเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติ
ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของคนกลุ่ม Baby Boomer
เมื่อทำความรู้จักกันไปแล้วว่าคนกลุ่ม Baby Boomer คือใคร เกิดในช่วงเวลาไหนบ้าง ก็อยากให้คนยุคตั้งแต่ Gen X ลงมาได้รู้จักกับลักษณะนิสัยของพวกเขา เพราะด้วยสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยที่แตกต่างจึงหลอมรวมความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมต่าง ๆ ให้ออกมาในแบบต่อไปนี้
ลักษณะนิสัยของคนกลุ่ม Baby Boomer
1. ขยัน อดทน มุ่งมั่น
คนในยุคหลังสงครามโลก ที่เติบโตมาท่ามกลางสถานการณ์ย่ำแย่ บ้านเมืองต้องการฟื้นฟู เศรษฐกิจดิ่งลงเหว ทำให้ผู้คนในสมัยนั้นต้องทำงานหนัก เพื่อกอบกู้ประเทศของตนขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้คน Gen B มีความอดทนสูง ขยัน มุ่งมั่น พร้อมทุ่มเททุกอย่าง เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
2. มีระเบียบวินัย
เนื่องจากในช่วงหลังสงครามโลก รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศ ต่างต้องการบูรณาการ และหล่อหลอมคนในชาติให้มีความสามัคคี เพื่อเป็นเกราะปราการที่เข้มแข็ง ไม่ให้ประเทศอื่นมารุกรานได้ ทำให้สมัยนั้นมีกฏ ระเบียบที่เคร่งครัด และผู้คนก็มีวินัย ปฏิบัติอยู่ในกรอบ เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกัน
3. รู้จักคุณค่าของเงิน
ในสมัยที่กำลังต้องการพัฒนาอย่างมาก ชีวิตผู้คนจึงมีความยากลำบาก ชีวิตที่ต้องดิ้นรนทำให้คนกลุ่มนี้เห็นคุณค่าของเงินและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และส่งผลให้คนรุ่น Gen B รู้จักในการใช้เงิน คิดแล้วคิดอีกเมื่อจะซื้อของในแต่ละครั้ง ไม่ชอบทิ้งของ ตัดใจทิ้งของไม่ลง เพราะเห็นค่าของเงินกว่าจะหาได้ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้หลาย ๆ บ้านที่มีผู้ใหญ่รุ่นนี้ชอบเก็บของล้นบ้าน และยึดติดกับความมั่นคงของชีวิต จึงมักให้ความสำคัญกับอาชีพที่มีรายได้แน่นอน มีความมั่นคงในอาชีพอย่างข้าราชการ ชอบให้ลูกหลานรับราชการมากกว่าทำงานบริษัทเอกชนหรืองานอิสระ
4. ทะนงในตัวเองสูง
ทะนงในตัวเองสูง คือ สิ่งที่บ่งบอกถึงลักษณะของคน Gen B เพราะถือว่าตนเองผ่านประสบการณ์มามากตั้งแต่อายุยังน้อย ผ่านความยากลำบากมาอย่างหนัก ทำให้ยึดมั่นในความคิดของตน ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ และถือว่าตนอาบน้ำร้อนมาก่อน ย่อมรู้และเข้าใจมาก่อน จึงทำให้ไม่ค่อยเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ หรือเปิดใจยอมรับยาก ยึดมั่นในค่านิยมเดิม ๆ ทำให้มักจะมีช่องว่างระหว่างวัย โดยเฉพาะคนกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่เห็นได้ชัดถึงความต่างของทางด้านทัศคติ และไลฟ์สไตล์ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเป็นส่วนประกอบ
ลดความขัดแย้งระหว่างวัยด้วยการเปิดใจยอมรับ
ความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วของชีวิตผู้คนยุคหลังสงครามโลกที่ต้องดิ้นรนอย่างยากลำบาก กับชีวิตในยุคปัจจุบันที่สะดวกสบายด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ทำให้ค่านิยม ทัศคติ พฤติกรรม และการตัดสินใจ ระหว่างคนกลุ่ม Gen B , Gen Y และ Gen Z มีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงต้องปรับจูนเข้าหากันด้วยการเปิดใจยอมรับแต่ละฝ่าย โดยคนรุ่นหลังให้ความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้อาวุโส รับฟังคำสอนและชี้แจงความเห็นต่างด้วยเหตุผลอย่างนอบน้อม ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าถึงประสบการณ์ของผู้ใหญ่ ส่วนผู้สูงอายุรุ่น Baby Boomer เลิกยึดติดกับภูมิหลังและความคิดของตนเอง เปิดใจรับฟังทัศนคติ ความคิด และวิสัยทัศน์ของเด็กรุ่นใหม่ ยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงที่หมุนเวียนไปตามยุคสมัย เข้าใจว่าสิ่งใด ๆ ในโลกนี้ผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เปิดใจรับและเรียนรู้ในเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมไปถึงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากตน เพียงเท่านี้ ความแตกต่างของช่องว่างระหว่างวัยก็ไม่ใช่อุปสรรคของการอยู่ร่วมกันแบบ All Generation อีกต่อไป